วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

บริวารที่เชื่อมโยง

ภาพวาด ฮาเดส ลักพาตัว เพอร์เซโฟนี โดย Peter Paul Rubens ในปีค.ศ. 1636


   อาจารย์ผมท่านเคยสอนและเน้นย้ำ ถึงการเกริ่นนำเรื่องให้ดี ให้น่าดึงดูด ซึ่งผมไม่เคยจะทำได้สักที จนถึงบทความนี้ ผมก็ยังไม่รู้เลยว่าจะเริ่มยังไง (เผยความโง่ซะงั้น)

  ระหว่างเขียนบทความที่ 2 ผมนั่งศึกษาเรื่องดาวพลูโต จนไปสะดุดตากับชื่อดาวบริวารทั้ง 5 ของมัน 
ชารอน นิกซ์ ไฮดรา เคอร์เบอรอส สติกซ์
  ชื่อเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกับ พลูโต (แต่ในบทความนี้ผมขอเรียกว่า "ฮาเดส" นะครับ) และผมก็ชื่นชอบเทพนิยายปกรณัมกรีกอยู่แล้วด้วย

   เข้าสู่โหมด ปกรณัมกรีก

  ฮาเดส เทพแห่งยมโลก เป็นโอรสองค์เล็กของโครนัส และ รีอา  เป็นเทพที่ไม่ค่อยได้การต้อนรับจากองค์อื่นซักเท่าไหร่ เพราะฮาเดสเป็นเทพที่ไม่ค่อยจะมีความปราณี แถมยังหายตัวได้อีก

  เกริ่นนำตัวพระเอกแล้ว จากนี้จะเป็นบริวารทั้ง 5 ที่เชื่อมโยง

  ชารอน  เป็นคนพายเรือนำวิญญาณ ข้ามแม่น้ำสติกซ์ จากโลกมนุษย์ไปยังยมโลก ตั้งโดย เจมส์ คริสตี ผู้คนพบดาวชารอน เพื่อเป็นเกียรติแก่ภรรยาของเขาที่ชื่อ ชาร์ลีน 

  นิกซ์     เป็นเทพีแห่งราตรี ผู้เป็นหนึ่งใน "ปฐมเทพ" เป็นมารดาของ "ทาร์นาทอส" เทพแห่งความตาย ที่เป็นผู้ช่วยของ ฮาเดสใน ทาทารัส (ชื่อยมโลก)  
ถูกตั้งโดยสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล มีชื่อเดิมว่า S/2005 P1 , พลูโต II 

  ไฮดรา (งู)  สัตว์ในปรณัมกรีก เป็นลูกของ พัลลาส และ สติกซ์ (บางฉบับเป็นลูกของ ไทฟอน และ อีคิดน่า) ในตำนานส่วนใหญ่ไฮดราจะมี 9 หัว อาศัยอยู่บริเวณทะเลสาบเลอนา ถูกฆ่าโดย "เฮอร์คิวลิส" ถูกตั้งโดยสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล มีชื่อเดิมว่า S/2005 P2 , พลูโต III

  เคอร์เบอรอส หรือ เซอร์เบอรัส (สุนัข 3 หัว) สัตว์ในปรณัมกรีก เป็นลูกของ ไทฟอน และ อีคิดน่า เป็นพี่น้องกับไฮดรา และยังเป็นสุนัขเฝ้าประตูยมโลกอีกด้วย 
ถูกตั้งโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล มีชื่อเดิมว่า S/2011 134340 1 , P4

  สติกซ์ เทพีแห่งความเกลียดชัง และยังได้รับเกียรติจากซุส ตั้งชื่อแม่น้ำระหว่างโลกและยมโลกว่า "แม่น้ำสติกซ์" จากการที่สติกซ์ผู้เป็นไททัน เข้าไปช่วยซุสในสงครามครั้งสุดท้ายกับไททัน  ถูกตั้งโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล มีชื่อเดิมว่า S/2012 134340 1 , P5

 การเชื่อมโยงกันของบริวาร และดาวเคราะห์อันเป็นเจ้านาย อาจเป็นเพราะเหล่านักดาราศาสตร์ต้องการให้ความเป็นครอบครัว เพื่อความสะดวกในการจดจำ 

โดย ครอบครัวแห่งยมโลก ที่ล่องลอยห่างออกไปกว่า 760,000 กิโลเมตร ยังคงอยู่ในห้วงอวกาศให้มนุษย์โลกได้ทำการศึกษากันต่อไป

  ระหว่างที่พิมพ์ สิ่งที่ผุดเข้ามาในหัว (อีกแล้ว) คือ ทำไมชื่อของดาวบริวารทั้ง 5 ถึงต้องเชื่อมโยงไปถึงพลูโตทั้งหมด อีกทั้งการเรียงลำดับของชื่อด้วย  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ชื่อที่เชื่อมโยงกันไม่ได้มีแค่พลูโตและบริวาร ยังมีดาวอังคารและบริวารอีกด้วยนะ 



  

  

  

วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2558

"พลูโต"

"พลูโต"


สัญลักษณ์ของดาวพลูโต เป็นตัว P กับ L วางติดกัน



     ชื่อต่างๆ ของสิ่งต่างๆ ที่ถูกตั้งขึ้น ล้วนแล้วแต่มีที่มา 
 "ดาวพลูโต" ก็มีที่มาของชื่อเช่นกัน

    หลังการค้นพบ "ดาวเคราะห์ดวงใหม่" โดย ไคลด์ ทอมบอห์ สิ่งที่ต้องตามมาติดกันคือ การตั้งชื่อ
หอดูดาวโลเวลล์ ได้รับสิทธิเป็นผู้ตั้งชื่อดาวดวงนี้ เพราะผู้ก่อตั้งหอดูดาวแห่งนี้ "เพอร์ซิวัล โลเวลล์" เป็นหนึ่งผู้ค้นพบดาวดวงนี้ และเป็นคนที่พยายามหาดาวดวงนี้จนสุดชีวิต (สุดจริงๆนะ) 

    มีชื่อต่างๆ จากทั่วทุกสารทิศเสนอเข้ามากว่า 1,000 รายชื่อ ส่วนมากก็จะเป็นชื่อทวยเทพ จากตำนานกรีก-โรมัน เหมือนเดิมนั่นแหละ
   ไม่ว่าจะเป็น ไดอาน่า มิเนอร์ว่า แอตลาส แบคคัส ก็ล้วนถูกเสนอเข้ามา

   แต่ชื่อที่ปักอกถูกใจเหล่าสมาชิกในหอดูดาวคือ "พลูโต" เทพแห่งยมโลก (ตามตำนานเทพปกรณัมกรีก) ส่วนคนที่เป็นคนตั้งชื่อนี้ขึ้นคือ "เวเนเทีย เบอร์นีย์" ซึ่งตอนนั้นเธออายุเพียง 11 ปี เธอเสนอชื่อผ่านคุณพ่อของเธอ โดยได้รับเงินรางวัล 5 ปอนด์ (ประมาณ 300 ปอนด์ ในตอนนี้)

  ทำไม "พลูโต" ถึงถูกใจสมาชิกของหอดูดาวโลเวลล์มาก ?

ดาวดวงนี้เปรียบเสมือน เทพพลูโต ผู้เป็นเจ้าแห่งยมโลก อันอยู่ในความมืด และสามารถหายตัวได้ เหมือนดาวดวงนี้ที่หลบซ่อนอยู่ในความมืดนานหลายปี

อีกประการสำคัญ ชื่อพลูโต (Pluto) ตัวอักษร 2 ตัวหน้านั้น ยังตรงกับชื่อย่อของ เพอร์ซิวัล โลเวลล์ ผู้ก่อตั้งหอดูดาวอีกด้วย

   อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผุดตามมาในหัวของผมหลังจากที่ได้ศึกษาชื่อของดาวพลูโต คือความหมายจริงๆของดาวดวงนี้มันคืออะไร ? ทำไมบริวารทั้ง 5 ของพลูโต ถึงเชื่อมโยงกับพลูโตหมดทุกดวง ?
  
   ผมอยากเขียนต่อตามใจอยาก แต่อย่างไรก็ตามประการที่สำคัญกว่า คือการ "นอน" ครับ ฉะนั้น ผมควรไปนอน ฝันดีครับ ...บาย




วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2558

134340



 ทำไมหรือ ? ทำไมต้อง "134340" ? 

    คำถามนี้ ถามได้ในหลายมุมมอง อย่าง มุมมองของคุณ หรือ มุมมองของผม
หากคุณที่รู้ในความหมายของ 134340 แล้ว และถ้าชอบมัน .....อ่านต่อไปจ้ะ (คิริ)

"134340" เป็นรหัสดาวเคราะห์น้อยของ "ดาวพลูโต"( 134340 พลูโต) อันเคยเป็น "ดาวเคราะห์ดวงที่ 9 "  แต่ภายหลังการค้นพบ "ดาวอีริส" โดย ไมเคิล บราวน์ ในปี 2548   ทำให้สถานะของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 เริ่มสั่นไหว

   เพราะเจ้าอีริส มีขนาดใหญ่กว่า พลูโต ถึง 27 % แถมยังพ่วงดาวบริวารมาด้วย 

จน วันที่ 24 สิงหาคม 2549 ในที่ประชุมสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (ไอเอยู) เมืองปราก สาธารณรัฐเช็ก ได้มีมติ "ปรับยศ" ดาวพลูโต จาก "ดาวเคราะห์" เป็น "ดาวเคราะห์แคระ" พร้อมประทับรหัสหน้าชื่อด้วยเลขตามลำดับการค้นพบ "134340" 

ส่วนดาวอีริสที่เป็นเจ้าปัญหาหลักในเรื่องนี้ ก็มีมติตั้งเป็น ดาวเคราะห์แคระ เช่นกัน พ่วงรหัส " 136199 "

    อย่างไรก็ตามถึงแม้ดาวพลูโต จะถูกตัดออกจาก "การจัดระบบดาวเคราะห์ของมนุษย์" แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความสำคัญอะไรที่ มนุษย์ อยากค้นหา

ก่อนหน้าจะมีปรับยศดาวพลูโต ย้อนกลับไปต้นปี 2549 ในวันที่ 19 มกราคม

   ยานสำรวจอวกาศ "นิวฮอไรซันส์" ถูกปล่อยจากฐาน ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี ขึ้นสู่ห้วงอวกาศในภารกิจ "ศึกษาดาวพลูโต บริวาร และแถบไคเปอร์"

ยานสำรวจลำเหลือง มุ่งตรงสู่ดาวพลูโต ด้วยความเร็วเฉลี่ยที่ 50,000 กม./ชม. ภายในยานนั้น บรรจุเถ้ากระดูกของ ไคลป์ ทอมบอ ผู้ค้นพบดาวพลูโต ด้วย 

    วันที่ 14 กรกฎาคม 2558 มีการส่งสัญญาณภาพจาก ยานนิวฮอไรซันส์ กลับมายังโลก 
เป็นภาพถ่าย ดาวพลูโต ในระยะห่างประมาณ 760,000 กิโลเมตร
    ซึ่งถือเป็นความสำเร็จและก้าวหน้าครั้งใหญ่ ของเหล่านักดาราศาสตร์โลก

    ไม่ใช่แค่นักวิทยาศาสตร์ที่ตื่นเต้นกับเรื่องนี้ แต่ประชาชนที่รู้ข่าวสารเกือบทั้งโลก ก็ต่างดีอกดีใจกับการเห็นภาพของดาวที่อยู่ห่างจากโลกเราไปกว่า 4,770 ล้านกิโลเมตร ได้แบบชัดๆ 

     ผมคิดอยากเป็นส่วนหนึ่งของ นิวฮอไรซันส์ ผมอยาก"เจอ"ดาวพลูโต แม้ว่าจะความคิดผมจะไร้สาระและห่างไกลกับความเป็นจริงมาก 

ผมคิดว่ามันคงเหงา  มีแต่บริวารทั้ง 5 ที่คอยอยู่รอบข้าง 
แต่ก็ยังมีคนที่พยายามจะเข้าหา มีคนที่ยังให้ความสนใจ 
มันจะรู้หรือเปล่า ? ว่ายังมีคนที่สนใจมัน....
บ้าแท้



แล้วมีใคร เคย หรือมีความคิดแบบนี้บ้างหรือเปล่า ?